วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

บวชเพื่ออะไร?





การบวชจริงๆนั้นเขาบวชเพื่อปฏิบัติเพื่อดับทุกข์และเผยแพร่ธรรมะเพื่อช่วยคนให้พ้นทุกข์และช่วยโลกให้มีสันติภาพ ดังนั้นกิจวัตรก็ไม่มีอะไรมาก เพียงตั้งสติอยู่เสมอแล้วอบรมจิตให้มีสมาธิและปัญญาอยู่ตลอดทั้งวัน 



คำว่า บวช หรือบรรพชา คืออุบายวิธีในการงดเว้นจากบาป
และเป็นวิธีที่จะได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างสูงสุดเพื่อบรรลุถึงความบริสุทธิ์ ความสุข ความสงบอย่างประณีต

แต่เมื่อไม่ได้บวชก็ไม่มีโอกาส เพราะยังต้องผูกพันอยู่กับบ้านเรือน ลูกเมียและกิจการงานมากมายหลายชนิด เพราะคนที่ยังเกี่ยวข้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ จะไม่สามารถปลีกตัวออกไปบำเพ็ญเพียรได้อย่างเต็มที่

ฉะนั้น ผู้ที่บวชเราจึงเรียกว่า อนาคาริยะ แปลว่า ผู้มีศรัทธาบวชออกจากเรือน เป็นผู้ไม่มีเรือน

จุดประสงค์ของการบวชในสมัยพระพุทธเจ้า
การบวชเริ่มแรกนั้นเน้นอยู่ที่การปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง
คือเพื่อบรรลุพระนิพพาน อันเป็นการดับสิ้นสุดแห่งกิเลส ไม่เกิดขึ้นมาอีก
และเพื่อความสงบสุขของชาวโลก เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก

บวชแล้วได้อะไรบ้าง

ในบางครั้งถ้าคนบวชมาแล้ว แต่ถ้ายังปฏิบัติไม่ถึงที่สิ้นทุกข์
ก็เปรียบได้กับคนถือเอาส่วนประกอบของต้นไม้ ๕ ประเภท คือ [1]

๑. บวชได้กิ่งใบของต้นไม้ คือบวชแล้วได้ลาภสักการะ
และความสรรเสริญก็ดีใจ มัวเมาประมาทในสิ่งเหล่านี้ เหมือนคนต้องการแก่นไม้ ไปพบต้นไม้มีแก่นแล้วคิดว่ากิ่งใบนั่นแหละคือแก่นจึงถือเอากิ่งใบไป
เปรียบแล้วคือบวชแล้วได้ลาภสักการะ

๒. บวชได้กะเทาะเปลือก คือบวชแล้วไม่ประมาท บำเพ็ญศีลให้เต็ม ก็ดีใจเพียงเท่านี้ไม่ทำต่อจนถึงทางพ้นทุกข์ เหมือนคิดว่ากะเทาะเปลือกคือแก่นของต้นไม้

๓. บวชได้เปลือก คือบวชแล้วบำเพ็ญศีลให้เต็มสำเร็จ และทำสมาธิให้สำเร็จต่อไป
แต่ยังไม่ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ เหมือนคนคิดว่าเปลือกคือแก่นจึงตัดเอาเปลือกไป

๔. บวชได้กระพี้ บวชแล้วบำเพ็ญศีลให้เต็มสำเร็จ และทำสมาธิให้สำเร็จต่อไป
และได้ทำความเห็นให้ถูกต้องจนได้ปัญญา แต่ยังไม่ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์
เหมือนคนคิดว่ากระพี้คือแก่น จึงเอากระพี้ไป

๕. บวชได้แก่น คือบวชแล้วไม่ประมาทบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาให้เต็มบริบูรณ์
ปฏิบัติจนได้วิมุตติคือความหลุดพ้นจากกิเลส
ประเภทที่ ๒ ขึ้นมานับว่าเป็นการบวชที่ดีมาโดยลำดับ

จะบวชให้ดี ต้องประพฤติอย่างไร [2]
๑. ต้องสำรวมระวังปฏิบัติพระวินัย มีความเกรงกลัวละอายใจในโทษแม้เล็กน้อย
สำรวมตาหู เป็นต้น เว้นสิ่งที่ควรเว้น
ตลอดจนคิดถึงเรื่องที่จะทำให้กิเลสฟุ้งขึ้นมาหรือให้ล่วงละมิดพระวินัย

๒. ตั้งใจศึกษาให้ทราบชัดว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด และปฏิบัติให้ถูกต้อง

๓.ควบคุมจิตใจให้สงบ เว้นการกระทำหรือวิธีที่จะจำให้จิตกำเริบฟุ้งซ่านออกไปนอกทาง
เมื่อรักษาจิตให้สงบได้ ก็สามารถที่จะรักษาทุกอย่างให้สงบได้

๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องตรงต่อพระธรรมวินัย
เพราะจะประพฤติเรื่องใดก็จะเป็นการดีเพราะเรามีความเห็นที่ถูกต้อง
ถ้าคิดว่าพระวินัยไม่เหมาะแก่ตนหรือตนเองบวชในระยะเวลาที่สั้น
จะทำให้ความตั้งใจที่ประพฤติปฏิบัติอ่อนลงไป จะได้รับสิ่งที่ไม่ดีมาแทน

๕. ฝึกปราบตนให้ละความพยศร้ายที่เคยมีมา ใช้คุ้นเคยต่อความดี จนให้ถึงระดับที่ว่า
ทำความชั่วได้ยาก ทำความดีได้ง่าย ต้องทำตนให้ห่างหนีจากความชั่ว
ให้ใกล้ชิดกับความดี เหมือนองคุลีมาล

๖. ตั้งใจให้ถือเอาประโยชน์จากการบวชให้ได้ ตามความสามารถด้วยตั้งใจในการปฏิบัติในสิกขาทั้ง ๓
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างธรรมดาที่สุดต้องปฏิบัติรักษาพระวินัยให้บริสุทธิ์
เมื่อปฏิบัติได้ดีในส่วนหนึ่ง ได้ตั้งใจดีต่อคุณธรรมขั้นสูง ที่ยังไม่ได้บรรลุ
ก็ชื่อว่าปฏิบัติและตั้งใจถูกทางในการบวช

บวชนี้ดีอย่างไร
๑. ได้ประพฤติความดีอย่างสูงส่งอย่างน้อยก็สูงกว่าคฤหัสถ์
ฉะนั้นญาติโยมจึงกราบไหว้เคารพบูชา ถ้าประพฤติเสมอกันเขาก็ไม่จำเป็นต้องกราบไหว้
เช่นพ่อแม่กราบลูกผู้บวชแล้ว เพราะถือว่าทรงเพศและมีความประพฤติที่ดีสูงส่ง

๒. ได้ทำสิ่งที่ได้รับนิยมยกย่องว่าดี สิ่งทั้งหลายที่นอยมว่าดีนั้น ถ้าได้ประสบพบผ่านก็เป็นลาภของตนแต่ละอย่าง

๓. ได้เข้าใกล้ชิดพระธรรมวินัย ได้เข้าเนื่องในพระสังฆรัตน์ ได้เป็นพุทธศาสนิกชนจริงๆ ได้สืบอายุพระพุทธศาสนา
เพราะได้ปฏิบัติดี….
เพราะถ้านับถือพระพุทธศาสนาสักว่าแต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมในศาสนาอย่างใด
หรือปฏิบัติธรรมที่ศาสนาอื่นๆ ก็มี ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง
เมื่อได้ปฏิบัติธรรมที่เป็นส่วนพิเศษ อันมีเฉพาะในพระพุทธศาสนา จึงชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง
ที่ชื่อว่าได้สืบต่อพระพุทธศาสนา ก็เพราะพระพุทธศาสนาสืบต่อมาได้ด้วยมีผู้ออกบวช
ปฏิบัติสืบต่อกันมา ถ้าไม่มีผู้ออกบวช พระพุทธศาสนาก็คงจะหายไป

ถ้ามีคำถามว่า ถ้าเรียนรู้และปฏิบัติอย่างคนสามัญทั่วไปก็ได้ ทำไมต้องบวช
ตอบว่าก็ได้บุญอย่างคนทั่วไป แต่ไม่ได้เหมือนผู้บวชเหมือนการตัดลำต้นไม้ทิ้ง
ในที่สุดจะไม่มีกิ่ง แม้การบวชชั่วคราว ก็ชื่อว่ารักษาศาสนาได้ เพราะเข้ามาสืบต่อรักษาลำต้นไว้

๔. ได้ทำความปลื้มปีติและเพิ่มพูนบุญกุศลให้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง มารดาบิดาที่เป็นพุทธศาสนิกชนโดยมากเมื่อมีบุตรก็มักปรารถนาให้ได้บวช หรืออย่างน้อยก็รู้ว่าอาจจะได้บวชลูก และเมื่อได้บวชก็มีความปลื้มปิติ เพราะได้สำเร็จสมประสงค์ในการที่เรียกว่าเป็นบุญอย่างสูง และได้ให้อริยทรัพย์(ทรัพย์ที่ประเสริฐ)แก่ลูกของตน

๕. ได้รับประกันว่าตนเองสามารถประพฤติความดีได้ เพราะการบวชที่เป็นการบวชที่ดี
ต้องประพฤติพระธรรมวินัยอย่างประณีต เมื่อบวชแล้วประพฤติดีได้ในระยะเวลาหนึ่ง
ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้ารับประกันความดีให้แล้ว

๖. ได้เข้ามาสร้างนิสัยอุปนิสัยที่ดี เพราะการบวชเป็นการอบรมบ่มนิสัยให้ดี
มีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องอบรม มีพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้ช่วยอบรม
และดำรงตนเองอยู่ในแวดล้อมของเพื่อนที่ประพฤติธรรมร่วมกัน ช่วยห้ามไม่ให้ตกไปสู่สิ่งที่ไม่ดี

๗. ได้ปฏิบัติหน้าทีของลูกผู้ชาย เพราะลูกผู้ชายในประเทศไทยต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ๒ อย่างคือ
เป็นทหารรับใช้ประเทศชาติ ป้องกันชาติของตนเอง และบวชในพระพุทธศาสนา เพื่ออบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดี

********
การบวชที่มีมาเพิ่มเติม
๑.การบวชเพื่อหนีภัย คือเมื่อมีภัย เช่น ถูกตามฆ่า หรือมีคนจะมาทำร้ายก็เข้ามาบวชเพื่อหลีกเลี่ยงหรือหลีกหนีจากภัยนั้น เช่น สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พระเทียรราชา บวชหนีภัยเมื่อถูกกล่าวหาเป็นผู้วางยาพิษพระไชยราชาธิราช
กษัตริย์ราชวงศ์สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงศรีอยุธยาศรีรามเทพนคร
โดยบวชเป็นเวลากว่า ๒ ปี
ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเกิดจลาจล พวกข้าราชบริพารจึงกราบทูลให้ลาผนวชต่อมาทรงเป็นพระมหากษัตริย์ คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์(พระเจ้าช้างเผือก) พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงศรีอยุธยาศรีรามเทพนคร

๒. บวชเพื่อการเมือง เช่น ภายหลังการปฏิวัติของพลังนักศึกษาและประชาชน วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
จอมพลถนอม กิตติขจรได้เดินทางออกนอกประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้บวชเป็นสามเณรจากประเทศสิงคโปร์เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ประชาชนไม่พอใจมีการต่อต้าน
ทำให้เกิดวันมหาวิปโยค ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
แต่การบวชแบบนี้ไม่ดีเพราะทำให้ประชาชนคนไทยต้องมาฆ่าฟันกันเอง

[3] อนุสรณ์งานพระราชเพลิงศพ พระราชบัณฑิต(แจ่ม ธัมมสาโร)
โรงพิมพ์มหามกุกราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๒๙

บวช ๖ สึก ๖

บวชตามประเพณี ...... สึกตามประเพณี
บวชหนีสงสาร ..... สึกหนีคำสอน
บวชผลาญข้าวสุก ...... สึกอุทรร้องจ๊อก
บวชสนุกตามเพื่อน ...... สึกออกเพลิดเพลิน
บวชเปื้อนศาสนา ...... สึกเจริญเพศสัมพันธ์
บวชรักษาสถาบัน ..... สึกคับขันครอบครัว

บวชตามประเพณี
ประเอ๋ยประเพณี ....... ไทยเรามีดียิ่งอยู่สิ่งหนึ่ง
คือการบวชบรรพไทยใฝ่คำนึง ....... คิดลึกซึ้งถึงประโยชน์หลายโกฏิพัน
เกิดเป็นชายชาติเชื้อเป็นเนื้อหน่อ ....... ทั้งแม่พ่อญาติกาพาใฝ่ฝัน
ทั้งคนรักร่วมใจไปด้วยกัน ....... เพราะฉะนั้นตัดใจไปบวชเอย...

บวชหนีสงสาร

สงเอ๋ยสงสาร ....... น่ารำคาญนานมาเจ้าข้าเอ๋ย
การเกิดแก่เจ็บตายไม่วายเลย ....... ต้องเสวยผลกรรมที่ทำมา
อันกิเลสกรรมวิบากพาลากหมุน ....... หัวซุกซุนเสนยากมากนักหนา
กลัวความทุกข์ภัยโรคโศกตรึงตรา ....... จึงเงยหน้าบวชหนีเสียทีเอย

บวชผลาญข้าวสุก
ข้าวเอ๋ยข้าวสุก ....... เมืองไทยชุกชุมนักเป็นหนักหนา
ทุกหนแห่งเห็นข้าวไม่เปล่าตา ....... แสวงหากินได้ไม่กันดาร
ขี้เกียจนักหนักใจในธุระ ....... บวชเป็นพระเบาสบายกายสังขาร
เมื่อบวชแล้วละธรรมเจ็ดตำนาน ....... เลยบวชผลาญข้าวสุกทุกวันเอย

บวชสนุกตามเพื่อน
สะเอ๋ยสนุก ....... ช่างเป็นสุขเสียยิ่งจริงจริงหนอ
เสียงฆ้องกลองก้องกึกคึกใจรอ ....... เขาพะนอนาคน้อยผู้กลอยใจ
ทั้งหนุ่มสาวเฒ่าแก่และหลายหลาก ....... มาแห่นาคโห่กันออกหวั่นไหว
เห็นพระสงฆ์เอิบอิ่มยิ้มละไม ....... สนุกใจตามเขาเข้าบวชเอย

บวชเปื้อนศาสนา
ศาสนาเอ๋ยศาสนา ....... มีคุณค่าเหตุผลคนถือศีล
สมาธิ-ปัญญา-เป็นอาจิณ ....... รวมทั้งสิ้น ศีลธรรม เป็นคำเดียว
หากผู้ใดได้บวชอวดเป็นพระ ....... แต่ธรรมะ-วินัย-ไม่เกี่ยวข้อง
มิหนำซ้ำ-ทำผิด-คิดบิดเกลียว ....... ชอบทำเบี้ยวศาสนาพาเปื้อนเอย

บวชรักษาสถาบัน
สะเอ๋ยสถาบัน ....... สิ่งตั้งมั่นนานมาเจ้าข้าเอ๋ย
INSTITUTION สรรภิเปรย ....... ออกเชยเชยฟังดูไม่รู้ดี
แต่ถือว่าศาสนามาตั้งมั่น ....... เป็นสำคัญคนไทยได้สุขศรี
เพราะการบวชต่อกันนั้นยังมี ....... ยิ่งบวชดี สถาบัน มั่นคงเอย.

*** เป้าหมายการบวช ที่ถูกต้องที่สุด คือ การบวชเพื่อ ทำพระนิพพานให้แจ้ง
และเป็นทายาทของธรรม

ปีหนึ่ง หนึ่งปีม้วน ....... มวลสัตว์
วนวุ่น เวียนวก ในวัฏฏ์ ....... กัป หลาย
ปีหนึ่ง หนึ่งปีรัด ...... รึงโลก
เนานิ่งแนบแน่น แน่แท้ ....... ครอบด้วย โลกมาร.

ปีนี้ ๒๕๔๙ ....... สุขขี
เป็นปีศุภาระดิถีี ....... ผ่องแผ้ว
ใครได้บวชดับทุกข์ ....... เข้านิพพาน เมืองแก้ว
เหล่าธรรมทายาทแก้ว .... จักดับ-พิชิต โลกมาร.